ระบบบัญชีร้านอาหาร (ตอน 2)
เหมือนเดิมครับ ท่านผู้อ่าน ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเมืองไทย ก็จะต้องมีบทความมาฝากเหมือนเช่นเคย ฉบับนี้ก็เช่นกัน ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับเมืองไทยหนึ่งเดือนครับ ขณะที่เขียนนี่ก็อยู่บนสายการบินอิมิเรตต์เช่นเดิม ขาประจำครับ ตอนนี้แต้มสะสมน่าจะเป็น 20,000 แต้มได้แล้วมั้ง นักบินก็ให้ความสำคัญพูดถึง วีดีโอที่ฉายก็บอกเรื่อง skywards program ด้วยครับ มาครั้งนี้แปลกหน่อย ได้ยินเสียงแอร์โฮสเตสคนไทย กล่าวต้อนรับ ผู้โดยสาร นี่คงจะเป็นเพราะมีผู้โดยสารคนไทยนิยมนั่งอิมิเรตส์มากขึ้นกระมั้ง คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ครับ เพราะที่นั่งข้างๆผู้เขียนก็คิดว่าเป็นคนไทย
เวลาเครื่องบินลำใหญ่ (โบอิ้ง 777 )ขึ้นนี่ต่างจาก เครื่องบินลำเล็กของ Quantas เมื่อเช้าที่ผู้เขียนนั่งจาก Armidale ไปที่ Sydney มากเลย มันมั่งคง ไม่คลอนแคลน ไม่สั่น นิ่งมาก มันคงเหมือนกับบริษัทใหญ่ที่มั่นคง กับบริษัทเล็กๆที่เพิ่งเปิดใหม่ละมั้ง แต่มันก็บินได้ หรือทำธุรกิจได้เหมือนกันนะ แต่คนละขนาด สุดท้ายแล้วก็จะไปวัดกันที่ผลกำไร เพราะสายการบินใหญ่ๆก็ล้มละลายเราก็เคยได้ยินมาแล้ว
ไปไหนกันแล้วครับเนี่ย กลับมาเรื่องระบบงานบัญชีร้านอาหาร ตอนที่ 2 กันดีกว่าครับ ความเดิมจาก ตอนที่ 1 ผู้เขียนได้เล่าถึงการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำงานที่ร้านอาหาร ระบบรายได้ค่าใช้จ่าย ระบบเจ้าหนี้การค้า อันนั้นก็เป็นอันว่าเซ็ทเสร็จสรรพได้ใช้กันไปเรียบร้อยแล้ว แต่อีกเรื่องที่เกี่ยวกับระบบร้านอาหาร และเป็นที่สำคัญไม่แพ้กับการเซ็ทระบบดังกล่าวข้างต้น
ก็คือการจัดส่งภาษีBAS(Business Activity Statement)และการเสียภาษีปลายปี ให้กับสรรพากร หรือที่นี่เรียกย่อๆว่า ATO (Australian Taxation Office) นั่นก็คือการที่เราจะต้องหาบริษัท ที่จะทำบัญชีให้กับเรา หาอย่างไรให้ได้บริษัทที่ดีที่สุด เข้าใจเรา ประหยัดภาษีให้เราแบบถูกต้อง ทำแบบถูกต้องแต่ประหยัดการส่ง BAS (ภาษีขาย-ภาษีซื้อ)ทุก3เดือน คุยกับเรารู้เรื่อง (อันนี้ยากครับ เพราะไม่ใช่ภาษาของเรา แต่เราก็ต้องพัฒนาเรียนรู้ เพราะมาอยู่เมืองเค้าแล้ว)
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า พี่ชายของผู้เขียนอีกตามเคยหละครับมีนโยบายที่ต้องการหาคนทำบัญชีรายใหม่ อีกรอบ คำว่าคนทำบัญชีในที่นี้คือ ให้เข้าใจตรงกันว่าบริษัททำบัญชีให้กับร้านอาหารนะครับ ที่ว่าอีกรอบเพราะเปลี่ยนคนทำบัญชีมารอบที่สองแล้วครับ คนแรกเป็นคนลาวคิดว่าคุยกันรู้เรื่องแล้วจะดีแต่โดนค่าภาษีไปอาน คนที่สองหรือบริษัทที่สองเป็นคนท้องถิ่นเมืองเดียวกับที่ร้านอยู่หละครับ เป็นฝรั่งท่าทางจะดี แต่ก็โดนค่าใช้จ่ายมากมาย ชาร์ตแหลก คุยอะไรก็ชาร์ตเป็นเงินหมด จ่ายค่าบริการทั้งหมด 6,000 $ สองรอบภายในเวลา 6 เดือน ก็หมายถึงจ่ายทั้งหมด 12,000 ภายใน 6 เดือน คุยอะไรทุกเรื่องคิดเงินเป็นรายชั่วโมงหมด แล้วยังมีหน้ามาบอกด้วยว่า นี่ลดให้แล้วนะ ลดให้ตั้งหลายพัน นี่ถ้าคิดกันเต็มๆคงฟาดไปหลายหมื่นหละมั้ง แล้วเค้าชาร์ตค่าอะไรบ้าง เรารู้เรื่องกันมั๊ยครับเนี่ย มันเขียนกันมายาวเหยียด เราก็มีหน้าที่จ่ายกันอย่างเดียว จะเถียงก็เถียงลำบาก ลำพังแค่คุยก็เข้าใจกันยากแล้ว นี่โดยเฉลี่ยก็เดือนละประมาณ 2,000 $ ครับ ถ้าคิดเป็นปีก็ประมาณ 24,000$
วิธีแก้ปัญหาการจ่ายค่าทำบัญชีแพง
ล่าสุดก็มีการแยกงานเอกสารออกมาให้บุคคล ที่ทำงานคนเดียวทำให้ ทำหน้าที่รวบรวมเอกสารให้เราก่อน ทำบัญชีสรุปรับจ่าย สรุปภาษีซื้อ ภาษีขาย แล้วค่อยส่งสำนักงานบัญชีอีกที นัยว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน เพราะถ้าให้บริษัทบัญชี ทำหน้าที่ในการรวบรวมเอกสาร คัดแยกเอกสารทั้งหมด แล้วทำบัญชีด้วยมันจะแพงมาก เพราะอย่างน้อยค่าแรงของพนักงานของบริษัททำบัญชี เริ่มต้นตั้งแต่ 70-80$ ต่อชั่วโมง แต่นี่เราแยกงานรวบรวมเอกสาร แยกเอกสารออกมาให้คนธรรมดาที่เค้าเรียกว่า Book Keeper ไปทำก่อน ค่าแรงแค่ 35$ ต่อชั่วโมง เสร็จแล้วเอกสารทั้งหมดจะถูกรวบรวมให้สำนักงานบัญชีภายหลัง สำนักงานบัญชีก็แค่ตรวจสอบ แล้วก็สรุป Bas report ทุก3เดือน และปลายปีก็ทำรายงานทางการเงิน
ค่าใช้จ่ายของร้านอาหารในการจ้างคนทำบัญชี (ในสมมติฐานของผู้เขียน)
ค่าใช้จ่ายก็จะถูกแบ่งจ่ายออกมาเป็น 2 ทาง คือ
1-ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้สำนักงานบัญชี
- ค่าทำ Bas 300-500 $ ต่อ 3 เดือน รวมทั้งปีก็ประมาณ 1,200-2,000$ ต่อปี
-ค่าทำรายงานทางการเงินก็ประมาณ 3,000-5,000$ ต่อปี รวมแล้วต้องจ่ายสำนักงานบัญชีก็ ประมาณ 4,200-7,000$ ต่อปี
2-อีกทางหนึ่งคือ ค่าใช้จ่ายของ Book keeper ประมาณ 150-200$ ต่อวีค รวมเดือนหนึ่งต้องจ่าย 600-800$ ทั้งปีก็ประมาณ 7,200-9,600$ ต่อปี
รวมค่าใช้จ่ายทั้งสองทาง ค่าใช้จ่ายในการทำระบบบัญชีของร้านอาหารก็ตกประมาณ 11,400-16,600$ต่อปี
นี่คือตัวเลขโดยประมาณ หรืองบประมาณที่ร้านอาหารต้องจ่าย ถือว่าเป็น FIX COST ขั้นตอนต่อไปก็คือ จะต้องทำอย่างไร ที่จะให้ต้นทุนในส่วนนี้ลดลงให้ได้
หาข้อมูลบริษัททำบัญชีรายใหม่
ในการหาคนทำบัญชีรายใหม่ก็คือ การที่ต้องเข้าไปพูดคุยกับสำนักงานบัญชีรายอื่นๆในเมืองนี้ทั้งหมด ใช้หลักเดียวกับการที่เราจะหา Agent ที่จะทำเรื่องอยู่ที่นี่ให้กับเราหละครับ ต่อสายคุยกับทุกราย แล้วก็ถามคำถามเดียวกันแล้วให้เค้าตอบ ใครเข้าท่า ก็เลือกรายนั้น
-ขั้นแรก มีบริษัทบัญชีกี่บริษัทในเมืองนี้ ได้มาแล้วครับ หนึ่งเป็นบริษัทรุ่นใหม่ไฟแรง สองเป็นบริษัทเก่าแก่ของเมือง สามเป็นบริษัททำบัญชีรายใหญ่ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนี้ มีสาขามากมายทั่วประเทศ สี่เป็นบริษัทท้องถิ่นที่กำลังเติบโตน่าจับตามอง
-ขั้นสอง โทรคุยบอกปัญหาของร้าน
-ต้องการที่ปรึกษา ที่ให้คำแนะนำได้ดี ทำให้กิจการเติบโต อาทิ เช่น คำถามที่ว่า เราควรเป็น ห้าง บุคคลธรรมดา หรือ จดทะเบียนเป็นบริษัทดี ฯ
-ต้องการประหยัดการจ่ายภาษี ให้ ATO แบบถูกต้อง จะต้องทำอย่างไร
แล้วก็นัดเข้าพบเพื่อพูดคุยทั้งหมด ทุกราย ฟังการตอบคำถาม คำถามที่ลืมไม่ได้เลย แล้วบริษัทของคุณมีความแตกต่างจากบริษัทอี่นอย่างไร ทำไม? เราถึงต้องเลือกคุณ
-ขั้นที่สาม เอาข้อมูล งบทางการเงิน ของปีก่อน ให้ทุกที่พิจารณา แล้วตอบเราว่า เรามีปัญหาอะไร ต้องปรับปรุงอะไร และเพื่อให้บริษัททำบัญชีรู้ขนาดของกิจการเราด้วย เพื่อที่จะได้ทำเสนอราคาให้เราได้ถูกต้องที่สุด
-ขั้นที่สี่ รอเข้าพบ พูดคุยเรื่องงบการเงินที่เราให้ไป พร้อมทั้งรับใบเสนอราคามาพิจารณา ว่าที่ไหน คิดค่าทำบัญชีเท่าไหร่ แล้วตอบคำถาม หรือแนะนำเราอย่างไร หลังจากดูงบทางการเงินแล้ว
-ขั้นสุดท้าย ก็คือการตัดสินใจเลือก บริษัทใด บริษัทหนึ่งที่เห็นว่า ใช่แล้ว แน่นอน ช่วยเราได้ และเข้าท่าที่สุด
เลือกบริษัทไหน ???
การคัดเลือกบริษัทใดนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไข ที่ว่าหน้าที่ของบริษัททำบัญชี จะต้องจัดทำ Bas ทุก 3 เดือน และปลายปีก็จัดทำFinancial report เท่านั้น เพราะเรามี Book keeper อยู่แล้ว ดังนั้น งบประมาณ ตามข้อมูลข้างต้นต้องอยู่ประมาณ 4,200-7,000$ ต่อปี ผลที่ได้รับ มีรายละเอียดดังนี้คือ
-หนึ่งเป็นบริษัทรุ่นใหม่ไฟแรง เสนอราคามาแพงหูฉี่ เกือบ 20,000 $ ต่อปี
-สองเป็นบริษัทเก่าแก่ของเมือง ประมาณ 3,000-4,000$ ต่อปี แต่ไม่ได้ทำใบเสนอราคามาให้ชัดเจน แค่พูดบอกด้วยวาจา
-สามเป็นบริษัททำบัญชีรายใหญ่ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนี้ มีสาขามากมายทั่วประเทศ บอกมาเหมือนบริษัทที่สอง ค่าค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000-4,000 ต่อปี
-สี่เป็นบริษัทท้องถิ่นที่กำลังเติบโตน่าจับตามอง เสนอราคามาว่า 6,000$ ต่อปี คุยฟรีทั้งปีตลอดไม่มีชาร์ต น่าสนใจตรงนี้แหละครับ เพราะว่าโดนชาร์ตเงินซะกลัว ลนลานไปหมด
ก็เกือบเลือกรายที่สี่แล้วครับ แต่มาสะดุดใจตรงการนำเสนอของ บริษัทที่สาม ที่เป็นบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะวันสุดท้ายที่เราไปพบ ผู้จัดการเค้าเรียกผู้เขียนเข้าไปนั่งในห้องแล้วก็พรีเซ็นต์ตัวเลข งบทางการเงินต่างๆที่เราส่งไปให้ วิเคราะห์ให้เราฟังว่า งบที่เค้าได้รับมีข้อผิดพลาดอะไร ตรงส่วนไหน เช่น กำไรของแต่ละสาขาไม่สัมพันธ์กัน , ทำไมกำไรของปี 2009 มากมายน่าสงสัย ,ทำไมสาขาที่ดีที่สุด มีสัดส่วนกำไรต่อยอดขาย น้อยกว่า สาขาที่เล็กๆ ที่ขายไม่ค่อยดี ฯ เออ นี่คือความแตกต่างที่ได้รับจากการเข้าพูดคุยสรุปครั้งสุดท้ายกับทุกบริษัท อย่างนี้เค้าเรียกว่าโดนหละครับ ถึงแม้ว่า การพูดคุยกันกับบริษัทที่สาม จะฟังยาก และเข้าใจยากกว่าการพูดคุยกับคนของบริษัทที่สี่ นี่เองทำให้บริษัทที่สามเข้าวิน แล้วอีกอย่างที่น่าสนใจเค้าเป็นบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เรียกว่า ถ้าไม่เก่งจริงคงเป็นบริษัทในตลาดไม่ได้แน่ แล้วก็เข้าวิน เพราะการวิเคราะห์งบให้เราฟังนี่แหละ มีอย่างที่ไหน ได้งบการเงินไปทุกบริษัท แต่บริษัทอื่นๆไม่ได้วิเคราะห์อะไรให้เราฟังเลย แล้วอย่างนี้จะทำงบไปทำห่…..หาพระแสงอะไรกัน ออ อีกเรื่องที่บริษัทที่สาม ทำให้ประทับใจ คือเค้าบอกว่าเค้าจะหาทางไปปรับตัวเลข งบให้ใหม่ แล้วทำเรื่องไปขอเงินคืนจาก ATO ให้เพราะมีบางสิ่งผิดปกติ นี่แหละตอบโจทย์ที่ปรึกษาตัวจริง คบแล้วดี คบแล้วลดการจ่ายภาษี
สรุปว่า เลือกบริษัทที่สาม เซ็นสัญญาการจ่ายเงินค่าทำบัญชีรายปีทั้ง Bas และ Financial report ไปที่ ประมาณ 3,500 $ เท่านั้นครับ งบประมาณลดลง ถูกกว่าบริษัทเก่าอีกครับ
เริ่มงานกับบริษัทใหม่ เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ
ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่นักครับ กับบริษัทใหม่ บริษัทใหม่ได้จัดทำจดหมายให้บริษัทเก่า บอกว่า เราเปลี่ยนมาใช้บริการกับเค้า บริษัทบัญชีเก่าก็ส่งเอกสารทั้งหมดให้บริษัทใหม่ เป็นอันจบ ที่นี่ ประเทศนี้ ทำอะไรกันง่ายๆดีครับ ไม่มีเรื่องความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างเป็นระบบ และเคารพซึ่งกันและกัน เจอหน้ากับคนทำบัญชีเก่าก็ทักกันปกติ นี่ถ้าเป็นเมืองไทย ไม่มองหน้ากันแล้วมั้ง แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้เรื่องมากขึ้นกว่าเดิมก็คือ ในการทำบัญชีนั้น จะมีการใช้งาน โปรแกรม Bank link เออ แล้วไอ้โปรแกรมนี้ คืออะไร จริงๆชื่อมันก็บอกอยู่แล้วนะว่า เป็นโปรแกรมที่เชื่อมต่อกับธนาคาร (www.banklink.com.au …) สรุปว่า โปรแกรมนี้จะเชื่อมข้อมูลจากบัญชีของเราจากธนาคารต่างๆที่เราใช้อยู่ไปให้กับสำนักงานบัญชี ดึงข้อมูลมาทำงบการเงินต่างๆได้เลยอัตโนมัติ ไม่ต้องมาพิมพ์ซ้ำอีกรอบ เพราะเงินเข้า เงินออก รายรับ รายจ่าย ของเราทั้งหมดก็อยู่ในบัญชีของธนาคารต่างๆอยู่แล้วครับ เห็นภาพมั๊ยครับท่านผู้อ่าน อันนี้เสมือนเป็นเครื่องมือในการลดการทำงานซ้ำซ้อนของสำนักงานบัญชี ข้อมูลที่ดึงมาก็จะมาปรับปรุงแต่ละรายการเพิ่มเติม ว่ารายการไหนเป็นค่าใช้จ่ายกลุ่มไหน รายได้อะไร แล้วก็มีรายงานงบทางการเงิน แค่คลิกก็ออกมาแล้วครับ หลากหลายรายงาน ดูทั้งรายเดือน รายสามเดือน รายปี รายสาขา วิเคราะห์เปอร์เซ็นต์ออกมาได้หมด และค่าใช้จ่ายเงินสด ที่ไม่ได้ผ่านแบงค์ก็สามารถบันทึกเพิ่มเข้าไปได้ด้วย บ้านนี้เมืองนี้ เค้าดีอย่างนี้แหละ ถ้าเป็นเมืองไทย ไม่ได้เลยระบบของแบงค์ ใครจะเข้าไปลิงค์คงลำบาก
ที่นี่เค้าคิดถึงผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นที่ตั้ง ระบบงานที่เอามาใช้ก็เหมือนกับเมืองไทย แต่ลดเวลาการทำงาน อย่างเช่น เราไปฝากเงินแบงค์ที่นี่เป็นไงครับ ต้องเขียนเอกสารฝากมั๊ยครับ แค่ยื่นเงิน ยื่นบัตร มันก็ระบบเดียวกัน เมืองไทยก็มีระบบเหมือนกัน แต่ก็ติดราชการต้องเขียนใบฝาก คนฝากเสียเวลาเขียน คนแบงค์ก็ต้องเก็บเอกสารใบฝาก บ้าหรือเปล่าครับ แบงค์ที่นี่เค้าก็แค่รับเงินแล้วก็พิมพ์ใบฝากออกมาจากระบบ ไม่เห็นต้องผลักภาระให้ลูกค้าเลย ระบบก็ทำได้เหมือนกันอยู่แล้ว ต่างอยู่ที่ความคิด มันไม่เหมือนกัน ทางด่วนเมืองไทยก็บ้าใช้คนเก็บเงิน รู้หรือเปล่าว่าเป็นต้นเหตุให้รถติด แต่ประเทศนี้ใช้แสงยิงไปที่รถ ที่ต้องติดอะไรบางอย่างให้อ่านได้ แล้วก็ตัดเงินกับค่าบริการที่รถคันนั้นซื้อมาแล้วล่วงหน้า ตัดเงินกันไป รถคันไหนไม่มีเจ้าป้ายนี้ เวลาขับผ่านเค้ายิงแสงมาไม่เจอ ป้ายนี้ ระบบก็จะส่งบิลไปเก็บเงินที่บ้านของเจ้าของรถคันนั้นๆเลย แล้วก็จะเก็บค่าผ่านทางแพงกว่า คนที่มีบัตรผ่านทางติดอยู่ด้วย นี่เค้าเรียกว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี่เป็น ไม่ได้เป็นการใช้เทคโนโลยี่ ตามกระแสแบบที่คนไทยใช้กัน สักแต่ว่ากูมี แต่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มกับที่มีระบบ นี่เป็นเพราะระบบความคิดครับ ไม่ใช่ระบบเทคโนโลยีไม่ทันสมัย ความคิดต่างหากที่ล้าสมัย ความคิดที่เอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง เข้าพักพวก มันทำให้ลืมไปหมดว่า ระบบจะช่วยอะไรเราได้บ้าง นี่แหละคือการไม่พัฒนาของประเทศเรา ….โอ แรงเลยนะเนี่ย ท่านผู้อ่านว่าจริงมั๊ยครับ .,…
…..อาหารมาเสริฟครับ…. พักสักครู่ …อิ่มแล้วครับ… มาต่อเลยครับ ………..
Bank Link Program หัวใจของการทำบัญชี และ การลดต้นทุนการทำบัญชี
ท่านผู้อ่านจำได้มั๊ยครับ ที่ผู้เขียนเล่าว่า บริษัทบัญชีรายที่สองที่ทำให้ร้านพี่ชายของผู้เขียน เค้าชาร์ตเงินทุกอย่าง หนึ่งในรายการที่ชาร์ตก็มี เจ้า bank link นี้ด้วยหละครับ แต่ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนไม่รู้ว่ามันคืออะไร บริษัทรับทำบัญชีรายนี้ ก็ไม่ได้อธิบาย หรือคิดว่าเราโง่ บอกแล้วกลัวเราไม่เข้าใจหรือเปล่า ทำไม บริษัทใหม่ถึงบอกเราได้ว่าคืออะไร ถึงบางอ้อหละครับ ร้านอาหารต่างๆที่มีสำนักงานบัญชีใช้โปรแกรมนี้ ซึ่งเราเสียเงินให้กับบริษัทนี้นะครับ ในการดึงข้อมูลทางบัญชีของเรามาให้สำนักงานบัญชีทำงาน ฟังดีๆนะครับ ร้านอาหารจ่ายเงินค่าเชื่อมระบบนะครับ ไม่ใช่สำนักงานบัญชีจ่าย แต่เราเคยรู้บ้างมั๊ยครับ เราเคยได้อะไรจากการจ่ายค่าลิงค์ระบบบ้างหรือไม่ครับ ………..คำตอบคือ ไม่เคยครับ โอ แม่เจ้า ลิงค์มาเกือบปีกับบริษัททำบัญชีกับบริษัทที่สอง เพิ่งมารู้ความลับของเครื่องมือในการทำบัญชี หลังจากย้ายมาทำบัญชีกับบริษัทที่สามนี่เองหละครับว่า
-อย่าไปเปิดบัญชีของร้านหลายบัญชี เปิดหลายบัญชีก็ทำให้เสียค่าลิงค์ข้อมูลจากแต่ละบัญชี ไปให้สำนักงานบัญชี เป็นการสิ้นเปลือง แล้วก็ทำให้สำนักงานบัญชีทำงานยากด้วย ทางที่ดี มีบัญชีเดินบัญชีของร้านบัญชีเดียวก็พอ รับ จ่ายอะไร ให้ใช้บัญชีเดียวให้หมด ทำบัญชีง่าย เสียเวลาน้อย ค่าแรงก็น้อยตามไปด้วย
-เราสามารถดาวน์โหลดโปรแกรม Bank link มาไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราได้ แล้วก็ดาวน์โหลดข้อมูล ของเรามาดูรายงานทางการเงิน เพื่อวิเคราะห์กิจการได้เอง และบันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้เองด้วย และเป็นหนทางลดต้นทุนที่ว่า ถ้าเราทำเองได้ในอนาคต ก็ไม่ต้องจ้าง Book keeper เพื่อทำหน้าที่นี้ให้เราเลย จริงๆแล้วมันก็เป็นเครื่องมือในการทำงานของ Book keeper นี่เอง
-Book keeper ถ้าไม่ชำนาญในการใช้งาน โปรแกรม Bank link จะทำให้ใช้เวลาในการทำงานมาก กับระบบอื่นอาทิเช่น การลงข้อมูลด้วยโปรแกรม Myob หรือ โปรแกรมพื้นๆอย่าง Excel ที่ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย และเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน เพราะถ้าลงรายการทุกอย่างที่ Bank link ทุกอย่างก็จบสรุปรายงานได้ทุกอย่าง ที่ต้องการ เพราะมีรายการที่สามารถเลือกดูได้อยู่แล้ว หรือสามารถสร้างรายงานต่างๆ ขึ้นมาได้เองอีกด้วย นั่นหละครับที่คือคำตอบ ของการเสียเงินให้ Book keeper แพงกว่า สำนักงานบัญชี จำได้มั๊ยครับ จากข้อมูลข้างต้น ที่ผู้เขียนบอกว่า ค่าใช้จ่ายสำนักงานบัญชีก็ ประมาณ 4,200-7,000$ ต่อปี
และค่าใช้จ่ายของ Book keeper ประมาณ 7,200-9,600$ ต่อปี และจากข้อมูลใหม่ที่ผู้เขียนจ้างบริษัททำบัญชีรายใหม่ เค้าคิดเงินแค่ 3,500$ ต่อปี นั่นก็หมายถึง ต้องจ่ายเงินค่าแรงให้ Book keeper เป็น 2 เท่าของ การจ่ายเงินให้สำนักงานบัญชี มันฟังดูแล้วทะแม่งๆ นะครับ
เห็นข้อมูลเป็นอย่างนี้ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า ทำอย่างไร เราจะเป็น Book keeper ซะเอง แล้วก็จ่ายเงินให้สำนักงานบัญชีแค่ 3,500 $ เท่านั้นเอง เพราะทุกวันนี้เราก็ต้องสรุปงานขาย สรุปค่าใช้จ่ายรายวันให้กับ Book keeper ทุกสองอาทิตย์อยู่แล้ว ท่านผู้อ่านติดตามต่อไปนะครับผู้เขียนคงจะต้องเขียนบทความหัวข้อ ระบบบัญชีร้านอาหาร ตอน ทำอย่างไรถึงจะเป็น Book keeper ??? ผู้เขียนคิดว่าจะต้องหาเวลาไปลงเรียนที่ TAFE ในคอร์สนี้แล้วหละครับ กะว่าเรียนจบกะว่าจะทำซะเองให้รู้แล้วรู้แรดไปเลย เจ็บใจโดนฝรั่งหลอกซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า หรือว่าเค้าไม่ได้หลอก เราโง่ที่ทำไม่เป็นเอง ………….
บริษัทบัญชี มืออาชีพทำงานกันอย่างไร
-มาแล้วครับ คำถามจากการทำงานของบริษัทบัญชีรายใหม่ล่าสุด เริ่มเอาตัวเลขมาคุยแล้วครับ เริ่มส่งข้อมูลมาตรฐานอุตสาหกรรม ร้านอาหารมาแล้วหละครับ ว่ากำไร หลังจากหักต้นทุนของควรเป็น 75% กำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายทุกตัว ควรได้ 10% ตามมาตรฐานธุรกิจร้านอาหาร ตามที่รัฐบาลกำหนดกฎเกณฑ์ออกมา ตัวเลขของร้านอาหารพี่ชายผู้เขียน มันเพี้ยนจากมาตรฐานที่กำหนด กำไรหลังหักซื้อ มีถึง 90% นั่นก็คือ บิลซื้อน้อยเกินไป ต้องแก้ไขในส่วนนี้ ไปหาบิลมา บิลหายไปไหน ลืมบอกหรือเปล่า หรือซื้อของแล้วไม่เก็บบิลมาให้สำนักงานบัญชี
-ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ ที่พี่ชายของผู้เขียนที่จ่ายไปเกิน 2,000$ ส่วนที่เกินจาก 2,000$ สามารถนำมาคำนวณ เป็นค่าใช้จ่ายได้ เอา 20% ของส่วนที่เกินมาจาก 2,000$ ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ ดังนั้นก็ต้องทำการรวบรวมรายจ่ายเรื่องสุขภาพ มาให้สำนักงานบัญชี เพื่อทำให้กิจการมีกำไรลดลง ภาษีที่ต้องจ่ายก็ลดลงตามไปด้วย
-การไปต่างประเทศ แล้วไปอบรบการทำอาหาร สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ของกิจการได้ ถือว่า เป็นการพัฒนากิจการให้ดีขึ้น ค่าเดินทางหักค่าใช้จ่ายได้ด้วย
-ค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์เพื่อกิจการ ถ้ามีการลงบุ๊ค ระบบให้ชัดเจนว่า เดินทางไปทำอะไรให้กับร้าน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
-ค่าเช่าบ้านให้พนักงานอยู่ ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้าเป็นการเช่าให้เจ้าของกิจการมาพักเป็นบางครั้ง บางช่วงเวลาที่มาตรวจสาขา ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้
-ค่าใช้จ่ายบางตัวที่มี Gst หรือภาษีซื้อ ต้องแจ้งสำนักงานบัญชีให้ชัด เพราะกิจการร้านอาหาร ไม่ค่อยมีภาษีซื้อเวลาซื้อของเข้ามา ทำให้เราเสียภาษี Bas เยอะ ในทุก 3 เดือน คำว่า Bas ก็คือ ภาษีขาย – ภาษีซื้อ = เท่าไหร่ มันก็คือเงินที่ต้องจ่ายให้สรรพากร หรือ ATO ของประเทศนี้ ดังนั้นเวลาซื้ออะไร ถ้าได้ ภาษีซื้อเข้ามามากเท่าไหร่ยิ่งดี อย่าละเลย ไม่เอาบิลมา นั่นก็คือ ทำให้ร้านไม่มีบิลซื้อ คือไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วก็ทำให้ไม่มีภาษีซื้อด้วย กำไรร้านเยอะ จ่ายภาษีกำไรปลายปีเยอะ ภาษีซื้อน้อยก็ต้องจ่ายBas เยอะให้ ATO เรียกว่าโดนสองเด้งเลย เพราะปกติคนที่ทำร้านอาหาร จะมั่วไม่ค่อยชอบเก็บบิล อาจบอกว่ายุ่ง งานเยอะ แต่หารู้ไม่ว่า ถ้าเก็บบิลให้ชัดเจน งานจะไม่เยอะ แล้วก็ไม่ต้องยุ่ง เพราะค่าใช้จ่ายที่จ่าย ATO น้อยลง
-การจ่ายเงินต่างๆขอให้ทำจ่ายผ่านระบบ Net banking ให้หมด แล้วก็ให้บันทึกให้ชัดเจนในรายละเอียดการโอนเงินด้วย ว่าจ่ายใคร เจ้าหนี้ชื่ออะไร มี Gst เป็นเงินเท่าไหร่ ระบุได้ยิ่งดี เพราะทำให้สำนักงานบัญชีเอาไปลงภาษีซื้อง่ายขึ้น นั่นคือง่ายในการทำ รายงาน Bas ทุก 3 เดือน การจ่ายเงินด้วยเช็คก็ควรงดเสีย เพราะไม่ได้โชว์รายละเอียดอะไรในรายการเคลื่อนไหวของ Bank link ที่ดึงข้อมูล Transaction ไปให้กับสำนักงานบัญชี ทางที่ดีต้องจ่ายผ่าน Internet banking ให้หมด ทั้งการจ่ายเจ้าหนี้ จ่ายพนักงาน (นี่ก็ต้องระบุด้วยว่าจ่ายใคร พนักงานชื่ออะไร ทำงานวันไหนถึงวันไหน กี่ชั่วโมง ถ้าเป็น Part time)
จากข้อมูลข้างต้น นี่แหละคือความแตกต่างของการทำงานของบริษัทบัญชีเก่า กับบริษัทใหม่ การทำงานมีการพูดคุยกันตลอดเวลาทั้งโทรศัพท์ มาพบที่ร้าน หรือติดต่อผ่านเมล์ ไม่เหมือนกับบริษัทเก่า ไม่ถามอะไรทั้งนั้น เอกสารซื้อไม่มีก็ไม่ตาม ไม่มีการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของร้าน กับค่าใช้จ่ายที่เป็นมาตรฐานของธุรกิจร้านอาหารของภาครัฐ ไม่แจ้งว่างบผิดปกติ กำไรเยอะก็ไม่ทัก ไม่คุยอะไร ไม่มีการแนะนำอะไร ไม่บอกว่าอะไรหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น อย่างนี้ก็จ่ายภาษีกำไรกันอานหละครับ ทำงานง่ายดีครับ ไม่ต้องมาถามอะไร เดากันไปเลย ไม่มีมาตรฐานอะไรทั้งนั้น มีแต่มาตรากู
งานของสำนักงานบัญชีใหม่ ตอนนี้ก็คือ การที่จะเร่งทำงบต่างๆของร้านอาหารของพี่ชายของผู้เขียน ให้เข้าใกล้กับเกณฑ์มาตรฐานของภาครัฐ พร้อมมีเอกสารยืนยันความถูกต้อง เมื่อมีหลักฐานครบ พร้อมที่จะยืนยัน ก็จะแจ้งไปทาง ATO ใหม่ว่า เรามีมาตรฐานค่าใช้จ่าย และกำไรอย่างไร เพื่อไปแจ้งย้อนหลังกับ ATO ว่าปีเก่าๆก่อนหน้านี้ที่ยื่นเข้าไป อาจมีการผิดพลาดจากการทำบัญชี ถ้าทาง ATO มีความเข้าใจเหตุผล และเห็นพ้องกับหลักฐานเอกสาร ก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้เงินคืนบางส่วน นี่แหละ ที่เค้าเรียกว่า มืออาชีพ
สาระสำคัญของบทความระบบบัญชีร้านอาหาร ตอนที่ 2 นี้ก็หนีไม่พ้น การใช้งานด้านไอที ที่พระเอกของบทความนี้น่าจะเป็น ระบบโปรแกรม Bank link (โปรแกรมที่เชื่อมข้อมูลการเคลื่อนไหวของบัญชีเราทั้งหมด ไปที่สำนักงานบัญชี เพื่อนำข้อมูลไปใช้ทำบัญชีได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีรายงานต่างๆที่กำหนดไว้แล้วแค่เรียกดู อย่างเดียวเท่านั้น ) และ การใช้งาน การใช้จ่าย จ่ายเงินให้เจ้าหนี้ หรือค่าใช้จ่ายต่างๆผ่านบัญชีเดียว โดยการใช้เดบิตการ์ด ที่เป็นบัญชีของร้านในการซื้อของทุกอย่างเข้าร้าน และการจ่ายเงินโดยการโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตเข้าบัญชีเจ้าหนี้ หรือจ่ายเงินค่าแรงพนักงาน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ทางสำนักงานบัญชีและ Book keeper ทำงานได้ง่ายขึ้น ออ อย่าลืมระบุชื่อเจ้าหนี้ และระบุชัดๆด้วยว่าการจ่ายแต่ละครั้งมี ภาษีซื้อ (Gst) หรือไม่ เท่าไหร่ นั่นก็คือการลดต้นทุน ในการจ่ายเงิน หรืองบประมาณค่าใช้จ่าย ในการจ่ายให้สำนักงานบัญชี และ Book keeper นั่นเอง เพราะชั่วโมงการทำงานของเค้าจะน้อยลง แค่ทำงานเหมือนเดิมแต่มีรายละเอียดตามที่เค้าต้องการ เท่านั้นเอง